เกี่ยวกับ City Climate

About Us

"ทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพ ประชาชนเป็นเจ้าของ"

www.hatyaicityclimate.org เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวอำเภอหาดใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงข้อมูลในการเฝ้าระวังน้ำท่วม เพื่อประโยชน์การเตือนภัยและปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล จุดเด่นของเวปไซท์ www.hatyaicityclimate.org คือ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นช่องทางสื่อสารและเผยแพร่ข่าวสารการเฝ้าระวัง และเตือนภัยล่วงหน้า ประกอบด้วยภาคส่วนเช่น หน่วยราชการ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาสังคมได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยมีประชาชนเป็นเจ้าของ ที่สำคัญ ไม่ได้จัดทำขึ้นหรือได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหรือส่วนท้องถิ่นใดๆ

กว่า 13 ปีที่ผ่านมา www.hatyaicityclimate.org ได้อำนวยประโยชน์ในด้านข้อมูลสภาพฝนและสภาพน้ำให้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ และข้างเคียงให้มีข้อมูลที่สามารถตัดสินใจได้ในการเตรียมรับมือกับภาวะอุทกภัยในฤดูกาลของทุกปี ข้อมูล ณ 16 กันยายน 2567 มีคนเข้าดูเวปแล้ว 14,965,874 คน / ยอดวิว 61,251,888 views เฉพาะวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 182,215 คน 3,445,273 ครั้ง วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 239,484 คน 4,524,742 ครั้ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 มีจำนวน 183,599 คน 3,183,378 ครั้ง

การจัดทำเวปไซท์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดย มูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Southern Cities Climate Change Resilience Network (SCCCRN ซึ่งต่อไปจะเรียก SCCCRN ออกเสียงง่าย ๆ ว่า “เอสเซิร์น”) ที่มี ดร.สมพร สิริโปราณานนท์ เป็นประธาน มีกรรมการและที่ปรึกษามาจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เช่น รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ม.สงขลานครินทร์ รองประธาน ม.ราชมงคลศรีวิชัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องถิ่น ได้แก่ ทน.หาดใหญ่ ทม.คอหงส์ ทม.คลองแห ทต.พะตง ภาครัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก สนง.ชลประทานสงขลา สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สนง.ทรัพยากรน้ำที่ 8 ภาคเอกชน ได้แก่ หอการค้าจังหวัด บ.ไซเบอร์เทค(คุณภูเบศว์ แซ่ฉิน และทีมรับผิดชอบติดตั้งกล้อง cctv) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา ภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิชุมชนสงขลา(คุณภานุมาศ นนทพันธ์ โปรแกรมเมอร์ดูแลเว็บไซท์) มูลนิธิเส้นด้ายหาดใหญ่ สถานีวิทยุ ม.อ. ร่วมกันรับผิดชอบ สร้างยั่งยืนและต่อเนื่องในการดูแลระบบ โดยได้ดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้รับความอนุเคราะห์ภาพเรดาห์สทิงพระ จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาพจากกล้องวงจรปิดของ กรมทรัพยากรน้ำภาค 8 และกรมชลประทาน ภาพจากกล้องที่ติดตั้งโดยเทศบาลเมืองคอหงส์ ภาพจากกล้องที่ติดตั้งโดยมูลนิธิ SCCCRN เองอีกจำนวนหนึ่งและกล้องที่ได้รับการบริจาคอุปกรณ์ สนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายจากภาคธุรกิจเอกชน

หน้าเว็บประกอบด้วยภาพเรดาห์สทิงพระ จากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก พร้อมแผนที่ระบุจุดที่ก้อนฝนเคลื่อนตัวและตกในเวลาปัจจุบัน(ดูแถบสีจากก้อนฝน...ปรับภาพใหม่ทุก 15 นาที) ภาคจากกล้องวงจรปิด ซึ่งถ่ายทอดผ่านการออนไลน์แบบ Still frame ทุก 1 นาที เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายโดยยังพอแก่การประเมินสถานะการณ์ได้

เส้นทางการติดตั้งกล้องเฝ้าระวัง เป็นเส้นทางแนวคลองอู่ตะเภา ซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่จะเป็นเหตุของอุทกภัยหลายครั้งที่ผ่านมา เว็บไซต์นำข่าวสารมาแจ้งเตือนผ่านหน้าเว็บ เมื่อถึงเวลาสำคัญจะมีตัวอักษรวิ่งแจ้งเตือนสถานการณ์ ที่มีข้อสรุปจากทีมประเมินสถานการณ์และประกาศเป็นทางการแล้วเท่านั้น จะไม่มีการเตือนล่วงหน้าออกประกาศด้วยตนเอง เพื่อไม่สร้างความสับสน

เนื่องจากทุกครั้งเมื่อมีฝนตกหนัก มีผู้คนเข้าดูเว็บไซต์จำนวนมากจนในบางครั้งเกินขีดความสามารถของขนาดแบนด์วิธอินเตอร์เน็ตที่เช่าไว้จะรองรับได้ หลายครั้งต้องอาศัยเงินทุนจากประธานมูลนิธิในเรื่องภาระค่าเช่าขยายขนาดแบนด์วิธอินเตอร์เน็ตให้เพียงพอที่จะรับภาระการเข้าดูพร้อมๆกันของประชาชน จนเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมามูลนิธิฯได้รับความอนุเคราะห์จาก บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของประเทศ ให้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสำหรับให้บริการเวปไซท์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว www.hatyaicityclimate.org เป็นเครื่องมือสื่อสารการให้ข้อมูลเพื่อเตือนและเฝ้าระวังภัยจากอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภา ที่ดำเนินการกันด้วยจิตอาสาของทุกภาคส่วน เรายังขาดแคลนปัจจัยหลายๆด้านที่จะต้องบำรุงรักษาและพัฒนาต่อเติมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงขอโอกาสเชิญชวนประชาชนที่สนใจและมีจิตอาสามาร่วมกันช่วยพัฒนาระบบเตือนภัยของเราในมีความยั่งยืนต่อไป ด้วยแนวคิดที่ว่า “ การเตือนภัยด้วยตนเอง บนพื้นฐานของความรู้และข้อมูล”