รูปแบบการเกิดน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่
คลองอู่ตะเภาไหลผ่านเมืองหาดใหญ่ไปลงสู่ทะเลสาบ ปลายทางคือแหลมโพธิ์ ตำบลคูเต่า ต้นน้ำอยู่ที่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยมีคลองสาขาที่สำคัญ คือ คลองสะเดา คลองหล้าปัง ซึ่งเป็นสาขาลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนบนไหลมารวมกันทางตอนบนของบ้านคลองแงะ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และยังมีคลองสาขาในลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนล่าง คือ คลองตง คลองประตู คลองหลา คลองจำไหร ไหลลงสู่คลองอู่ตะเภาตอนล่าง ณ บ้านบางศาลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา
สภาพภูมิประเทศของเมืองหาดใหญ่ พื้นที่ต่ำสุดของเทศบาลนครหาดใหญ่ บริเวณเขต 8 โดยมีชุมชนวัดโคกอยู่ต่ำที่สุด (รทก. 4.7 เมตร พื้นที่สูงสุด รทก 7.4 เมตร บริเวณศุภสารรังสรรค์/ช่องเขา บริเวณเนินเขา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เมื่อฝนตกทั้งลุ่มน้ำ น้ำไหลหลากจาก อำเภอสะเดาเข้ามาตามคลองอู่ตะเภา และไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่เมืองหาดใหญ่
รูปแบบการเกิดภัยน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่
ปี พ.ศ.2551(ท่วมเล็ก)
- ทัพหน้ามีมวลน้ำจากทิศตะวันออกของเมือง เทือกเขาคอหงส์ และเทศบาลเมืองคอหงส์ ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ด้านทิศตะวันออก บริเวณถนนสามแยกคอหงส์ ภาสว่าง บางส่วนเข้าพื้นที่คลองเรียน แล้วขึ้นไปยังถนน 30 เมตร จากนั้นช่วงบ่ายน้ำจากคลองต่ำ คลองวาด โจมตีหาดใหญ่ ไหลท่วมชุมชนบางแฟบ หาดใหญ่ใน บางหัก เข้าชุมชนวัดโคก ตกเย็นน้ำสมทบจาก อำเภอนาหม่อม เข้ามาทางคลองหวะ บางส่วนเข้าจันทร์วิโรจน์
- ทัพหลวง น้ำจากสะเดาไหลมาทางคลองอู่ตะเภา
ปี พ.ศ.2552 (ท่วมเล็ก)
น้ำท่วมสองรอบ ส่วนใหญ่ท่วมบริเวณหาดใหญ่ใน โลตัสหาดใหญ่ในถึงที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ (พื้นที่รอยต่อระหว่างคลองอู่ตะเภา-คลอง ร.1)- มวลน้ำรอบแรกไหลจากคลองต่ำ คลองวาด ตำบลควนลัง ซึ่งเป็นน้ำจากทิศตะวันตกของหาดใหญ่ ต้นน้ำมาจากพรุชบาและโตนงาช้างตำบลทุ่งตำเสา ไหลเข้าท่วมชุมชนหาดใหญ่ใน บางแฟบ เทศาพัฒนา ช่วงเย็นถึงหัวค่ำ น้ำจาก อำเภอนาหม่อม ไหลเข้าคลองเรียน เข้าถนน 30 เมตร และถนนศุภสารรังสรรค์
- มวลน้ำใหญ่(ทัพหลวง) น้ำจากสะเดาไหลมาตามคลองอู่ตะเภา แล้วเอ่อท้นเข้าท่วมชุมชนโซนหาดใหญ่ใน
ปี พ.ศ.2553 (ท่วมใหญ่)
ตอนเช้ามวลน้ำทัพหน้าจากทิศตะวันออก คลองต่ำ คลองวาด ตำบลควนลัง ตอนเย็นน้ำจาก อำเภอนาหม่อม ตำบลคอหงส์เข้ามาสมทบ ช่วงกลางคืนน้ำจากทัพหลวง:คลองอู่ตะเภาที่มาจากสะเดาไหลเข้าท่วมเมือง จากการเก็บข้อมูลพบสถิติปริมาณน้ำ 1,623 ลบ.ม./วินาที ชลประทานผันน้ำเข้าคลองอู่ตะเภา 930 ลบ.ม./วินาที เมื่อน้ำเกินการรองรับก็ผันน้ำเข้าคลอง ร.1 465 ลบ.ม./วินาที น้ำส่วนเกินปริงข้ามคันกั้นน้ำเข้ามาท่วมพื้นที่หาดใหญ่
พื้นที่น้ำท่วมหนักในเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้แก่ ชุมชนโชคสมานเนื่องจากเป็นที่ต่ำสุด มวลน้ำอ้อมลอดทางรถไฟ เข้าเทศบาลเมืองคลองแห ก่อนวกกลับเข้ามาตรงโค้งถนนรัถการ ตรงหมู่บ้านลับแล ไหลกลับเข้ามาตรงโค้งรัถการ ไหลบ่าเข้าวัดเกาะเสือไปอนุสรณ์อาจารย์ทองก่อนลงคลองเตย และท่วมพื้นที่เทศบาลเมืองคลองแห
เขตเศรษฐกิจย่านใจกลางเมือง ระดับน้ำท่วมประมาณ 2 เมตร สาย 1,2,3
พื้นที่ปลอดภัยมากที่สุด บริเวณ ม.อ. ช่องเขาลำดับการเกิดน้ำท่วมตามโซนพื้นที่
- โซน 1 พื้นที่ระหว่างคลองอู่ตะเภา - คลอง ร.1
- โซน 2 คลองอู่ตะเภาเข้ามาถึงทางรถไฟ
- โซน 3 ทางรถไฟถึงถนนกาญจนวนิชย์
จุดแรกที่น้ำเข้าเขตเมือง(โซน 2) บริเวณหลัง โรงเรียนอนุบาลในฝัน น้ำเซาะมาถึงถนนสันติราษฎร์ เมื่อมาถึงคูระบายน้ำเทศบาลน้ำมุดท่อโผล่หน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกัลยา น้ำวิ่งตามคูระบายน้ำถนนเพชรเกษม ผ่านหน้าโรงพักหาดใหญ่ ซอย 18 เพชรเกษม ลงไปหาจุดที่ต่ำสุด ณ หลังวัดโคก ชุมชนโชคสมาน
จุดที่สอง น้ำดันย้อนท่อถนนเพชรเกษม ตรงหน้าที่ว่าการอำเภอ ที่มีตะแกรงดักขยะ ปั๊มสูบน้ำของเทศบาล น้ำบางส่วนย้อนท่อ ล้นกำแพงกั้นน้ำของเทศบาล น้ำไปสมทบกับจุดที่หนึ่งที่ไหลเข้ามา ไปตามถนนเพชรเกษม แล้วไปรวมที่โชคสมานเหมือนเดิม
จุดที่สาม น้ำจากคลองหวะ เข้าชุมชนจันทร์นิเวศน์ เลาะตามริมทางรถไฟ โผล่ตรงอุโมงค์ลอดถนนศรีภูวนารถ น้ำมาสะสมที่อุโมงค์ ถัดจากนั้นน้ำเอ่อล้นอุโมงค์ บางส่วนเข้าเส้นท่อของเทศบาลย้อนกลับเข้ามาท่วมแถวหมู่บ้านดีแลนด์ปรักกริม บางส่วนวิ่งตามถนนราษฎร์อุทิศ สมทบกับชุดหนึ่ง ชุดสอง มุ่งตรงสู่โชคสมาน รัตนอุทิศ
จุดที่สี่ น้ำล้นคันกั้นน้ำแถวบางหัก เข้าโชคสมาน รัตนอุทิศ น้ำพยายามหาทางออก จะเข้าตัวเมืองให้ได้ จุดแรกบริเวณถนนเพชรเกษมตรงคูระบายน้ำตลาดกิมหยง
สรุปเส้นทางน้ำ
- โซนที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่เขต 3 และ เขต 4 (พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมประมาณ 3-4 เมตร)
- โซนที่ 2 จันทร์วิโรจน์ เป็นน้ำจากคลองหวะเข้ามา ย้อนเข้าทางลอดรถไฟหลังป้อมตำรวจชุมชนท่วมจันทร์วิโรจน์ จันทร์นิเวศน์ บางส่วนเข้าท่วมถนนสาย 1,2,3 ตรงบริเวณศรีภูวนารถ บวกกับน้ำจากคูถนนเพชรเกษม น้ำที่เข้าจันทร์วิโรจน์ไหลสู่คลองเตย
- โซนที่ 3 น้ำท่วมตลาดกิมหยง ธรรมนูญวิถี ประชาธิปัตย์ ถนน 30 เมตร ถนนศุภสารรังสรรค์ เลาะตามสามชัย ธนาคารชาติ เข้าสู่ถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ 5 ,4,3 น้ำจากคลองเรียนมาสมทบ และน้ำจากคลองแห รัถการ ทำให้พื้นที่บริเวณนิพัทธ์สงเคราะห์ 5 อนุสรณ์อาจารย์ทองน้ำท่วมทั้งหมด
- โซนที่ 2 จันทร์วิโรจน์ เป็นน้ำจากคลองหวะเข้ามา ย้อนเข้าทางลอดรถไฟหลังป้อมตำรวจชุมชนท่วมจันทร์วิโรจน์ จันทร์นิเวศน์ บางส่วนเข้าท่วมถนนสาย 1,2,3 ตรงบริเวณศรีภูวนารถ บวกกับน้ำจากคูถนนเพชรเกษม น้ำที่เข้าจันทร์วิโรจน์ไหลสู่คลองเตย
การเตือนภัยน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่
ใช้ข้อมูลทางอุทกวิทยา จากสถานีวัดระดับน้ำและปริมาณน้ำที่บ้านม่วงก็อง (สถานี X.173A) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหาดใหญ่ที่บริเวณ ปตร.อู่ตะเภาทางเหนือน้ำ ประมาณ 36 กิโลเมตร (กรณีน้ำท่าในลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนบน) และใช้ข้อมูลทางอุทกวิทยาจากสถานี วัดระดับน้ำและปริมาณน้ำที่บ้านบางศาลา (สถานี X.90) ซึ่งห่างจากเมืองหาดใหญ่ที่บริเวณปตร.อู่ตะเภาทางเหนือน้ำ ประมาณ 10 กิโลเมตร (กรณีน้ำท่าในลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนล่าง)
ทั้งนี้ระบบการเตือนภัย ระดับจังหวัดมีคณะอนุกรรมการคณะทำงานด้านวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ และแจ้งเตือนภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มจังหวัด เป็นกลไกในการประเมินสถานการณ์และรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเทศบาลนครหาดใหญ่ เฉพาะในพื้นที่คลองอู่ตะเภา ได้มีการกำหนดเงื่อนไขในการยกธงเหลือง และธงแดงเพื่อการเตือนภัยไว้เพื่อเป็นข้อตกลงเบื้องต้น
เงื่อนไขการยกธงเหลือง
- ระดับน้ำที่สถานีบางศาลา X90 = +8.00 เมตร รทก. ติดต่อกัน 6 ชั่วโมง
- ฝนตกเฉลี่ยในลุ่มน้ำมากกว่า 100 มม./วัน
เงื่อนไขการยกธงแดง
- ระดับน้ำที่สถานีบางศาลา X90 = 9.30 เมตร รทก. กรณีฝนตกเฉลี่ยทั้งลุ่มน้ำ หรือฝนตกด้านบนของลุ่มน้ำเป็นหลัก ให้คาดการณ์จากระดับน้ำที่สถานีบ้านม่วงก็อง (X.173A) = +16.4 เมตร รทก. หรือหากเป็นกรณีฝนตกทางด้านล่างของลุ่มน้ำเป็นหลัก คณะอนุกรรมการฯ คาดการณ์จากการประเมินสถานการณ์ น้ำฝน น้ำท่า ตามเวลาจริง (Real Time) อย่างต่อเนื่อง
- ฝนตกสะสม 3 วัน มากกว่า 300 มม. หรือ 200 มม./วัน
หมายเหตุ : ตั้งแต่มีการขยายคลองร.1 ทำให้การกำหนดเงื่อนไขการยกธงเหลือง/ธงแดงมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ กรณีฝนฟ้าคะนองตามฤดูกาล มีการตกในจุดเดียวในปริมาณมากเกิน 100 มม.ทำให้เกิดการท่วมขังระบายไม่ทัน บวกกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการถมที่ขวางทางน้ำ หรือทับที่ระบายน้ำทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลที่นำเสนอจึงเป็นเพียงประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินสถานการณ์และตัดสินใจเท่านั้น