เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

กระทรวงศึกษาไม่ได้ใช้นิทานเรื่อง โคนันทวิศาล มานานแล้วยัง

by พราหมณ์ @8 ม.ค. 55 16:59 ( IP : 110...66 ) | Tags : สอบถาม

คนรุ่นหลังๆคงไม่เคยเรียน .. สังเกตุจากวิธีการพูดจาในสภา หรือการประชุมระดมความคิด ที่ต้องเหน็บแนม หรือ ส่อเสียดก่อนเสนอ หรือแม้แต่คำขอ ก็ใช้คำให้ไพเราะเสนาะหูมิได้ ...

โคนันทวิศาล พราหมณ์คนหนึ่งมีโคชื่อนันทวิศาล เป็นโคหนุ่มที่แข็งแรง มีกำลังมาก สามารถลากเกวียนได้เป็นร้อยเล่ม อยู่มาวันหนึ่งเศรษฐีในหมู่บ้าน ประกาศท้าพนันลากเกวียนจำนวนหนึ่งร้อยเล่มเกวียนด้วยเงินห้าร้อยชั่ง พราหมณ์จึงนำโคนันวิศาลไปพนันลากเกวียนด้วย เมื่อพราหมณ์นำโคนันทวิศาลมาเทียมเกวียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงพูดกับโคนันทวิศาลด้วยเสียงอันดังว่า “นี่เจ้าโคขี้เกียจ เจ้าจงลากเกวียนทั้งหมดไปให้ได้นะ ไม่เช่นนั้นเจ้าจะเจ็บตัว” โคนันทวิศาลได้ยินพราหมณ์พูดเช่นนั้น จึงยืนนิ่งไม่ยอมลากเกวียนไป แม้ว่าพราหมณ์จะเฆียนตีอย่างไร ในที่สุดพราหมณ์ก็แพ้พนันต้องจ่ายเงินให้เศรษฐี ทำให้พราหมณ์เสียใจมาก ไม่ยอมกินไม่ยอมนอน ไม่เป็นอันทำอะไรทั้งสิ้นเสียดายเงินที่เสียไป โคนันทวิศาลเห็นดังนั้นจึงเกิดความสงสารพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าของมาก จึงพูดกับพราหมณ์ว่าให้ไปท้าพนันลากเกวียนกับเศรษฐีใหม่ด้วยเงินหนึ่งพันชั่งแล้วให้พราหมณ์พูดกับตนด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ พราหมณ์ได้ยินดีใจมาก รีบไปท้าพนันลากเกวียนกับเศรษฐีใหม่ พราหมณ์นำโคนันทวิศาลมาเทียมเกวียนหนึ่งร้อยเล่ม เมื่อพราหมณ์เทียมเกวียนเสร็จแล้ว จึงพูดกับโคนันทวิศาลด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวานว่า “พ่อมหาจำเริญ พ่อจงลากเกวียนทั้งหนึ่งร้อยเล่มเกวียนนี้ไปให้ข้าหน่อยนะพ่อนะ” โคนันทวิศาลได้ยินพราหมณ์พูดไพเราะเช่นนั้นก็ลากเกวียนไปถึงที่หมายได้สำเร็จ พราหมณ์ดีใจมากได้เงินพนันหนึ่งพันชั่ง ตั้งแต่นั้นมาพราหมณ์ก็พูดจาไพเราะกับโคนันทวิศาลและคนอื่น ๆ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า - การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน ย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป - ตรงกับสำนวนที่ว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว หรือปลาหมอตายเพราะปาก”