เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

กระบวนการนโยบายสาธารณะ ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเมืองหาดใหญ่

by Little Bear @29 พ.ย. 54 13:21 ( IP : 202...129 ) | Tags : ความรู้ , น้ำท่วม , หาดใหญ่ , นโยบายสาธารณะ
photo  , 888x627 pixel , 116,045 bytes.

กระบวนการนโยบายสาธารณะในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองหาดใหญ่

โดย ชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลา และคณะทำงานโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เรียบเรียงจากเอกสารโครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ภัยพิบัติที่มนุษย์จะต้องเผชิญ

การก่อตัวของนโยบาย

ช่วงหลายปีนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ผนวกกับประสบการณ์ระดับนานาชาติที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ เพียงแค่ 7 ริกเตอร์ ส่งผลต่ออาคารที่สูงกว่า 3 ชั้น ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตเรือนแสน หรือการเกิดสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น การเกิดพายุไซโคลนที่ประเทศพม่า หรือประสบการณ์จากแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ที่มีแผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์ แถมมีแรงบวกจากท่อก๊าซ ท่อหุงต้มที่ระเบิด เหล่านี้ทำให้เกิดความตระหนักว่ามนุษย์ยังไม่เข้าใจธรรมชาติที่ลึกซึ้ง เราอยากจะควบคุมธรรมชาติ เป็นนายของธรรมชาติ สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ ซึ่งไม่จริง นี้เป็นบทเรียนของเรา

กล่าวได้ว่ามนุษย์ทำให้สภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง เราได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อโลก จากกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น จากโรงงานอุตสาหกรรม จากการทำเกษตร การลงทุนอุตสาหกรรม ประเทศไทยกำลังจะมีโครงการต่อเนื่องมากมาย ทั้งแลนด์บริดจ์ ท่าเรือน้ำลึก ที่จะตามมา

นอกจากนั้นแล้วภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เกิดได้จากการทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์(การอุจจาระ ปัสสาวะปล่อยก๊าซมีเทน) มีการเผาในที่โล่ง เผาขยะ เผากำจัดวัชพืช การตัดไม้ทำลายป่า ขยะ น้ำเสีย สรุปรวมแล้วมีกิจกรรมของมนุษย์จำนวนมากที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เราลืมตาตื่นกระทั่งนอนหลับ เช่น การเดินทาง การขนส่ง การบริการ การสื่อสาร การผลิต เหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกับการทำให้เกิดโลกร้อนเพิ่มขึ้นไม่น้อย

ช่วงฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลง พืช สัตว์ต้องมีการปรับตัว เกิดปัญหาสุขภาพ...เกิดโรคจากพาหะสารพัด เช่น หนู ยุง แมว ก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่ตามมา และยังรวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพืช สัตว์ ทุกวันนี้ลดลง และหากมีการใช้สารเคมีมาก การบริหารจัดการน้ำ หากเราจัดการไม่ได้ ทั้งน้ำน้อย น้ำมาก เราก็ควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ได้ มากไปกว่านั้นการตั้งถิ่นฐานและสาธารณูปโภคเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ พรมแดนแห่งพื้นที่เริ่มหดแคบและพล่าเลือน เรามีผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น ที่หาดใหญ่ก็เช่นกัน

ภาวะโลกร้อน เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ธรรมดาและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ จากเหตุการณ์พายุไซโคลนที่พม่า เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ลุ่มน้ำอิระวดี พม่ามีความสูญเสียมาก สิ่งก่อสร้างเปราะบาง พังทลายเรียบ การช่วยเหลือล่าช้า ถนนไม่มี ระบบโครงข่ายไม่มี สะพานเสียหายชำรุด ใช้ได้แต่ทางเรือ นานวัน ศพเริ่มเน่าเปื่อย ศพมากเกินกว่าจะเก็บหมด คนไม่มีที่อยู่

ปี 2552  ในรายงานระบุว่าจะเกิดพายุประมาณ 25-28 ลูก พายุลูกแรกมาถึง 3 พฤษภาคม 2552 พายุลูกเล็กกลายเป็นไต้ฝุ่น 7 พฤษภาคม พายุจันทร์หอมกลายเป็นไต้ฝุ่น 29 มิถุนายน 2552 ท้องฟ้ากรุงเทพฯมืดมิด ทั้งที่ไม่มีรายงานพายุใดล่วงหน้า 13 สิงหาคม 2552 ทั่วโลกเกิดพายุหมุนพร้อมกัน 6 ลูก ซึ่งเกิดได้ยากมาก 4 ตุลาคม 2552 เกิดไต้ฝุ่น parma เดินหน้าไม่เป็นเส้นตรง เปลี่ยนทฤษฎีใหม่ของการเกิดพายุ มีการเดินทางที่กลับไปกลับมา เฉพาะที่ฟิลิปปินส์เกิดซ้ำกลับไปกลับมาสองรอบ เรายังไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้ว่าทำไมพายุจึงมีเส้นทางเดินแบบนี้

กล่าวเฉพาะเมืองหาดใหญ่ ปี 53 เป็นอีกปีที่หาดใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่อีกครั้ง สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมูลค่านับหมื่นล้านบาท

สาเหตุและปัจจัยสำคัญ

เมืองหาดใหญ่มีลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ มีแนวภูเขาทางด้านทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก โดยพื้นที่ลาดจากทิศใต้และทิศตะวันตกไปสู่ทะเลสาบสงขลา อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 26.6-29.6 โดยอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายน และอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณฝนเฉลี่ยประมาณ 1,916.4 มิลลิเมตร ปริมาณฝนมากที่สุดเดือนพฤศจิกายน

สภาพเศรษฐกิจเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและธุรกิจของภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา อาหารทะเล ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีภูเขาที่สำคัญ ได้แก่ เขาคอหงส์ เขาแก้ว เขาวังพา และเขาน้ำน้อย คลองที่สำคัญได้แก่คลองเตย คลองอู่ตะเภา และคลองวาด และรวมถึงทางเทศบาลได้มีการดำเนินการจัดทำแก้มลิงเพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม

ความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเมืองหาดใหญ่1 ได้แก่ อากาศร้อนมากขึ้นร้อนต่อเนื่อง และยาวนานมากขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ ความต้องการน้ำทั้งภาคครัวเรือนและภาคการเกษตร ความต้องการในการใช้พลังงานและผลกระทบต่อพืชเศรษฐกิจ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ชุมชนแออัด และชุมชนที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ เกษตรกร และกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กเล็ก ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำฝน ส่งผลต่อน้ำท่วมและ ดินถล่ม พื้นที่เสี่ยง คือ พื้นที่ที่มีฝนตกในปริมาณเกิน 50 มม./วัน ส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เศรษฐกิจ อาชีพ และคุณภาพชีวิต รวมถึงอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน หรือระหว่างชุมชนหากการช่วยเหลือเกิดขึ้นช้า กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้พิการ ชุมชนแออัด/ชุมชนบุกรุก (ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย)และชุมชนที่ตั้งอยู่โดยรอบคลองอู่ตะเภาโดยเฉพาะชุมชนฝั่งซ้ายของคลอง ภัยแล้ง ส่งผลกระทบด้านอาหาร การประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ชุมชนแออัด และชุมชนที่ยังไม่มีน้ำประปาใช้ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรและน้ำเสีย ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ การประกอบอาชีพ น้ำดื่ม ระบบนิเวศเสื่อมโทรม และด้านด้านสังคมโดยเฉพาะชุมชนริมคลองอู่ตะเภา ผลกระทบที่เกิดจากลมพายุ ส่งผลอกระทบต่ออาชีพและรายได้ของชาวประมงและผู้ที่อยู่ริมชายฝั่ง และผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่ริมทะเลและสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว และยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่นำมาผลิตน้ำประปา และใช้ในการเกษตรรวมถึงส่งผลต่อการทำการเกษตร และเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น โดยกลุ่มเสี่ยงได้แก่ชาวประมง ผู้ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้ทะเลสาบ และเกษตรกรรอบๆ พื้นที่ลำน้ำ

ศักยภาพของคนหาดใหญ่โดยรวมชุมชนระดับพื้นที่มีประสบการณ์ มีองค์ความรู้ ภูมิปัญญาในการมองวิเคราะห์ และแก้ปัญหาในเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง มีกลุ่ม เครือข่ายชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ที่มีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เครือข่ายรักษ์คลองอู่ตะเภา ปัจจุบันมีภาคประชาสังคมต่างๆ ที่มีประสบการณ์ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมชุมชน ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง มีความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และ อปท. อย่างต่อเนื่องและกระตือรือร้น

อ่านฉบับสมบูรณ์ได้จากไฟล์ประกอบ

Relate topics