เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

พิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองหาดใหญ่”

พิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมืองหาดใหญ่”

ภายใต้โครงการเครือข่ายเมืองในเอเชียเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Asian Cities Climate Change Resilience Network (ACCCRN) - Thailand

วันอังคารที่ 13 มีนาคม 2555 เวลา 9.30 - 16.00 น.

ณ อาคารหน้าหอศิลป์ สวนสาธารณเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

............................................................................................

ความเป็นมา

สำหรับโครงการ ACCCRN ในประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในช่วงการดำเนินงานในระยะที่ 3 ซึ่งการดำเนินงานในระยะที่ 1 ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ทำการคัดเลือกเมืองนำร่องได้แก่ เมืองเชียงราย และหาดใหญ่ เพื่อดำเนินงานในระยะที่ 2 ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพเมืองเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ มาตรการ แผนการดำเนินการและข้อเสนอโครงการ ร่วมทั้งโครงการนำร่องที่มีความเหมาะสมกับสภาพของเมืองและภาวะความเสี่ยง เพื่อเตรียมการรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานในระยะที่ 3 ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการเสริมความเข้มแข็งให้กับเมืองเครือข่ายในการสร้างการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว และเพื่อผลักดันให้การรับมือต่อสภาพภูมิอากาศในระดับเมืองไปสู่นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศในระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายให้เมืองเชียงรายและเมืองหาดใหญ่มีการวางแผน การประสานงาน และนำยุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่บทเรียนและเครื่องมือที่สร้างขึ้นจากโครงการ ACCCRN และมุ่งประเด็นหลักไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับชาติเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนานโยบายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติต่อไป และจากการดำเนินโครงการนำร่อง “โครงการเครือข่ายบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา” ที่ผ่านมา ทางเมืองหาดใหญ่ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองหาดใหญ่” ดังนั้นทางเทศบาลหาดใหญ่ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จึงได้จัดพิธีเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว ขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 13 มีนาคม 2555 เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ และรวบรวมข้อมูลรวมถึงจัดนิทรรศการ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ผู้ที่สนใจในกิจกรรมของศูนย์ฯ รู้จักศูนย์ฯ เพิ่มมากขึ้นและใช้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งเรียนรู้ ค้นคว้า และสืบค้นข้อมูล ได้มากขึ้น

อีกทั้งทางโครงการ ACCCRN เมืองหาดใหญ่ มีเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้าคือ “เมืองหาดใหญ่ต้องมีการบริหารจัดการอุทกภัยของเมืองอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อให้เมืองหาดใหญ่มีข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยอาศัยฐานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตและมุ่งผลักดันไปสู่การวางผังเมืองรวมของเทศบาล เพื่อให้เกิดการรับมือและปรับตัวอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันเมืองหาดใหญ่ อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการย่อย ได้แก่ “โครงการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตและผังชุมชน เพื่อการรับมือ และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของชุมชนในพื้นที่เมืองหาดใหญ่” และยังมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการรออนุมัติข้อเสนอโครงการ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อประกอบการทำผังเมืองรวมหาดใหญ่ ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ “โครงการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือและปรับตัวในระยะยาวต่อจากการเกิดอุทกภัยเมืองหาดใหญ่” ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานต่อไปสอดคล้องกับเป้าหมาย และโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นคณะทำงาน ดังนั้นทางสถาบันสิงแวดล้อมไทย ร่วมกับคณะทำงานโครงการ ACCCRN เมืองหาดใหญ่ จะมีการจัดประชุมขึ้นโดยมีความมุ่งหมายหลักเพื่อให้เกิดความเข้าใจในบทบาทความรับผิดชอบ หน้าที่ รายละเอียดการดำเนินงานของคณะทำงานต่อการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 และให้คณะทำงานมีความตระหนักถึงเป้าหมายของเมืองหาดใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้า รวมถึงให้ได้มาซึ่งข้อเสนอแนะวิธีการที่เหมาะสม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ควรเพิ่มเติมเข้ามาเป็นคณะทำงาน อีกทั้งร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะทำงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเปิด“ศูนย์เรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองหาดใหญ่”อย่างเป็นทางการ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ
  2. นำเสนอแผนงานโครงการ ACCCRN ระยะที่ 3 และเป้าหมายของเมืองหาดใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้า และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
  3. เพื่อให้คณะทำงานรับทราบบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินโครงการต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเมืองหาดใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้า
  4. ร่วมวางแผนและเตรียมการดำเนินงานโครงการฯ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. คณะทำงานรับทราบบทบาทและหน่วยงานที่รับผิดชอบการในการดำเนินโครงการที่ชัดเจนเหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานสู่การวาง road map ต่อไป
  2. คณะทำงานทุกท่านรับทราบและตระหนักถึงเป้าหมายของเมืองหาดใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน

จำนวนผู้เข้าร่วม

  • ช่วงเช้า ประมาณ > 100 คน
  • ช่วงบ่าย ประมาณ 30 คน

ช่วงเช้า พิธีเปิด“ศูนย์เรียนรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมืองหาดใหญ่”

เนื่องจากพิธีเปิดศูนย์ฯ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคณะศึกษาจาก วปอ. มาดูงานในพื้นที่ในช่างเช้าของวันที่ 13 มีนาคม 2555

กำหนดการช่วงเช้า

9.30 น. - 09.45 น. คณะ วปอ. ผู้ว่าราชการจังหวัด เดินทางมาถึงศูนย์ กล่าวต้อนรับ โดย นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่

9.45 น. -10.00 น. เปิดศูนย์โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ผู้บริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ตัวแทนมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ ธนาคารโลก ผอ.วปอ.

10.00 น. - 10.30 น. ผู้เข้าร่วม ชมนิทรรศการ การดำเนินโครงการ ACCCRN ภายในศูนย์ 10.30 น. - 10.35 น. เดินทางไปหอจดหมายเหตุ 10.35 น. - 11.00 น. ฟังบรรยายสรุป หาดใหญ่โมเดล (รูปแบบเสวนา ดำเนินรายการโดยนายชัยวุฒิ เกิดชื่น) - ลักษณะภูมิประเทศ, ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา, แผน/การจัดการตัวเองของชุมชน โดย นายดิเรกฤทธิ์ ทวะกาญจน์ และนายชาคริต โภชะเรือง - ระบบการเตือนภัยในระดับจังหวัด/คณะอนุกรรมการประเมินสถานการณ์จังหวัด โดย รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ (ประธานคณะอนุกรรมการประเมินสถานการณ์ฯ จังหวัด) - สรุป/ข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการอุทกภัย

โดยนายชาคริต โภชะเรือง

11.00 น. - 11.30 น. ซักถาม/แลกเปลี่ยนความคิดเห็น 11.30 น. จบงานช่วงเช้า คณะ วปอ. ดำเนินการกิจกรรมต่อไป

กำหนดการช่วงบ่าย

ประชุมคณะทำงาน

13.30 น. - 14.00 น. กล่าวเปิดงานช่วงบ่ายโดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ 14.00 น. - 15.00 น. ตัวแทนสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกล่าวถึงการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 และนำเสนอถึงเป้าหมายของเมืองหาดใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้าในการเสริมสร้างการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 15.00 น. - 16.00 น. ระดมความคิดเห็น

  1. บทบาทและหน้าที่ของคณะทำงานในระยะที่3
  2. การเสริมสร้างการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของเมืองหาดใหญ่ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเชื่อมโยง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การบริหารจัดการน้ำท่วม และสภาพภูมิอากาศเข้าด้วยกัน
  3. วิธีการที่เหมาะสม และใครที่เหมาะสมควรจะเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานเพิ่มเติม

16.00 น. - 16.30 น. กล่าวปิดการประชุมโดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์