SCCCRN เฝ้าระวังอุทกภัย ไปต่อ

by Little Bear @25 ธ.ค. 65 10:08 ( IP : 171...209 ) | Tags : ข่าวสารประชาสัมพันธ์

คาบเวลาฝนฟ้าตามฤดูกาลปีนี้ บวกกับปริมาณน้ำที่มากในรอบ 12 ปีต่อครั้ง อุตุฯบอกว่าหน้าฝนเริ่มช้ากว่าปกติไป 1 เดือน เช่นนั้นแล้วหน้าฝนภาคใต้ล่างยังไม่สิ้นสุด ปีใหม่ไปแล้วฝนยังมีมาได้อีก เราจึงต้องเตรียมพร้อมไปต่อแบบพร้อมกว่าเดิม

มูลนิธิ SCCCRN (เครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ปรับหน้าเว็บใหม่ เพิ่มความร่วมมือทางserver จับมือกันระหว่าง ม.อ บ.inet/สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา และมูลนิธิ SCCCRN เพื่อเมืองหาดใหญ่และเมืองอื่น

ลดภาวะหน่วง อืด ช้าของการจราจรในช่วงเวลาวิกฤตมีคนเข้าเว็บไซต์ www.hatyaicityclimate.org พร้อมกันนาทีละนับพันคน คุณภาณุมาศ โปรแกรมเมอร์บอกว่ารอบนี้ในช่วงเวลาฝนหนักสองสามวันต่อเนื่องมีคนเข้าดูเรือนแสนและจำนวนครั้งดูท่วมท้นไปกว่า 4 ล้านครั้ง คณะทำงานและทีมงานทั้งหมด จากศูนย์อุตุฯ ม.อ. อปท.ในเมืองหาดใหญ่(คอหงส์ พะตง รอทน.หาดใหญ่ และให้ประสานควนลัง) มูลนิธิชุมชนสงขลา สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดสงขลา ทีมโปรแกรมเมอร์ ประธาน เลขาฯ กรรมการมูลนิธิ SCCCRN นัดฉลองปีใหม่ หารือแนวทางรับมือในช่วงเวลาต่อไป(หากมี) โดยแบ่งงานเป็น 3 ส่วน

  1. แก้ปัญหาทางเทคนิคการเข้าถึงข้อมูลของเว็บไซต์ ทดสอบแนวทางใหม่จนสิ้นสุดหน้าฝนภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ใช้งานคลาวน์ของบ.iNet นำภาพนิ่งจากการบันทึกไปไว้ใน server ของม.อ. การกระจายภาระงานจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเว็บไซด์ได้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดต่างๆเพิ่มขึ้น มีความร่วมมือเสนอตัวมาช่วยราว 10-15 ตัว โดยเฉพาะคลองร.1(ณ สนง.ชลประทานและจุดที่บางแฟบ) ทีมงานปรับหน้าตาเว็บไซต์อีกครั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างชัดเจนและเป็นทางการว่าเป็นความร่วมมือกับองค์กรหน่วยงานต่างๆที่ดำเนินการโดยมูลนิธิ SCCCRN พร้อมเปิดรับความร่วมมือจากทุกแหล่งเพื่อมาร่วมกันเป็นเจ้าภาพและเจ้าของ ภายใต้แนวคิด "หน่วยงานเป็นเจ้าภาพ ประชาชนเป็นเจ้าของ"
  2. สื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานว่าเหตุน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ จะเกิดได้ 3 เงื่อนไข 1) ฝนหนักตกเฉพาะจุดในพื้นที่ เช่น กรณีคอหงส์ 2) ฝนหนักตกทั้งจุดภายในและภายนอกพื้นที่ 3) ท่วมใหญ่จากกรณีน้ำล้นจากคลองอู่ตะเภา พร้อมจัดทำเส้นทางน้ำ ให้รู้ผังการเดินทางของน้ำ ระบบระบายน้ำ เงื่อนไขการเตือนภัย จุดติดตั้ง CCTV เผยแพร่ในเว็บไซต์ ต้องการความร่วมมือจากจิตอาสาจัดทำคลิปสั้นๆ เป็นอนิเมชั่นดูง่ายๆ ใครมีความสามารถเสนอตัวมาได้ พร้อมจับมือช่วยกันสื่อสารกับสังคมผ่านเพจต่างๆ สร้างเครือข่ายสื่อ ลดความตื่นตระหนกและข่าวลือของประชาชน โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มเสี่ยงต่างๆในช่วงเกิดวิกฤต ที่สำคัญสร้างการมีส่วนร่วม รับมือและปรับตัวกับภาวะเสี่ยงด้วยตนเอง และร่วมแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
  3. แผนงานอนาคต ม.อ. จับมือกับ iNet (อาจติด sensor) และเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงทำแผนกับชุมชนเสี่ยงภัยที่ต้องเผชิญความเสี่ยงลำดับต้นๆ อาทิ ทุ่งรี หน้าค่าย ควนลัง หรือการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว/โรงแรม โรงเรียน ถึงขอบเขตของน้ำ ทิศทางการไหล ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝนกับระบบโครงสร้างพื้นฐานและการระบายน้ำ (ท่อส่งน้ำสายหลักและคูน้ำที่จะต้องขุดลอก/จุดสูบน้ำ-เครื่องสูบน้ำ/แก้มลิงต่างๆ/การพร่องน้ำและการระบายในช่วงวิกฤต) รวมถึงการประสาน อปท. ในพื้นที่ภูมินิเวศเดียวกันหารือร่วมกัน มองภาพเชื่อมโยงทั้งระบบ