“ภัยพิบัติ” กับการบริหารความเสี่ยง “รับรู้-เข้าใจ” ลดความเสียหายได้มาก

by Little Bear @18 มิ.ย. 56 10:53 ( IP : 49...202 ) | Tags : ข่าวสารประชาสัมพันธ์
photo  , 400x263 pixel , 68,246 bytes.

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับฤดูร้อน ที่ปีนี้ดูเหมือนหลายคนจะบ่นว่าจะร้อนกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แน่นอนว่าเมื่อฤดูร้อนหมดไป สิ่งที่มาแทนก็ต้องเป็นฤดูฝนอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่กลางๆ เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงปลายเดือนตุลาคมของทุกปี นี่คือวัฏจักรของธรรมชาติที่อยู่คู่โลกมาเป็นเวลานาน และมนุษยชาติก็คุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดี จนกระทั่งเมื่อวิถีชีวิตเราเปลี่ยนไป เนื่องจากสังคมเมืองเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ส่งผลให้มนุษย์ไม่อาจขาดสิ่งเหล่านี้ได้อีกต่อไป

ดังจะเห็นได้จากมหาอุทกภัย 54 ที่พบว่าประชาชนใน กทม. คือกลุ่มที่วิตกกังวลที่สุด และแม้จะผ่านไปเกือบ 2 ปี แต่เมื่อฝนตั้งเค้า หลายคนก็ยังหวั่นเกรงว่าน้ำจะท่วมอยู่เสมอ เพราะทุกกิจกรรมใน กทม. ล้วนแต่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทั้งสิ้น ทว่าในขณะเดียวกัน..ทุกครั้งที่เกิดภัยใหญ่ๆ ขึ้น มนุษย์ก็จะเรียนรู้จากความสูญเสียนั้น และนำไปสู่การเตรียมแผนรับมือในอนาคต

วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรับฟังความเห็นของนักวิชาการด้านภัยพิบัติ เกี่ยวกับหลักการบริหารความเสี่ยง และเราอาจนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องรอภาครัฐเสมอไป

ภัยและปัจจัยความรุนแรง

เมื่อพูดถึงภัยพิบัติ ในทางวิชาการได้กล่าวถึงศัพท์ 3 คำ ที่เกี่ยวข้องกัน คำแรกคือ “Hazard” หมายถึงตัวภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติ เช่นน้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ฯลฯ หรือภัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่นเพลิงไหม้ อุบัติเหตุ ตลอดจนอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ คำที่ 2 คือ “Exposure” หรือโอกาสเสี่ยงภัย เช่นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ โอกาสที่จะเสี่ยงต่อน้ำท่วมย่อมมากกว่าชุมชนที่อยู่ไกลออกไปจากแม่น้ำ

และคำที่ 3 คือ “Vulnerability” หรือความอ่อนแอ-เปราะบาง ซึ่งหมายถึงปัจจัยทางสังคมที่อาจทำให้ภัยที่กำลังเกิดอยู่นั้นทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เช่น ชุมชนแออัดที่บ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างขึ้นง่ายๆ จากไม้ อันเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ขณะเดียวกันก็ไม่มีแผนป้องกันและรับมือหากเกิดเพลิงไหม้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นทั้งชุมชนก็เต็มไปด้วยความโกลาหล ทำอะไรไม่ถูก และมักจะกลายเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในการปฏิบัติหน้าที่ไปด้วย จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมายในที่สุด

ดร.มุทริกา พฤกษาพงษ์ นักวิชาการอิสระด้านภัยพิบัติ กล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ของภัยพิบัติ โดยเน้นไปที่ตัวแปร 2 ตัว คือ Exposure กับ Vulnerability ซึ่งมีผลสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่างภัยน้ำท่วม แน่นอนว่าชุมชนริมแม่น้ำย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง (Exposure) เท่ากัน แต่เมื่อลงลึกไปถึงบ้านแต่หลัง จะพบว่าระดับความรุนแรงที่แต่ละครัวเรือนได้รับย่อมไม่เท่ากัน เช่นบ้านปูนแม้น้ำจะท่วมแต่โครงสร้างหลักๆ ยังไม่เสียหาย ขณะที่บ้านไม้ที่สภาพเก่า อาจจะพังไปทั้งหลังเลยก็ได้ เพราะบ้านไม้สภาพเก่า มีความเปราะบาง-ล่อแหลม (Vulnerability) มากกว่านั่นเอง

หรือภัยจากมนุษย์ ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง “อุบัติเหตุบนท้องถนน” ก็เช่นกัน เช่นผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) ปกติก็ย่อมมีความเสี่ยงกว่ารถยนต์อื่นๆ อยู่แล้ว เนื่องจากร่างกายแทบจะไม่มีเครื่องป้องกันใดๆ จนถูกเรียกว่า “เนื้อหุ้มเหล็ก” และถ้ายังไม่สวมหมวกกันน็อค หรือนั่งซ้อนเกินกว่าที่สภาพรถออกแบบมาให้รับได้ ตลอดจนการดื่ม (เมา) แล้วขับ รวมทั้งการขับขี่ด้วยความเร็วสูง พฤติกรรมเหล่านี้ยิ่งถือเป็นจุดล่อแหลมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเพิ่มความรุนแรงให้มากขึ้นไปอีก ยิ่งกว่าผู้ที่ขับขี่ด้วยความระมัดระวังหลายเท่าตัว

“เมื่อวันก่อนดูข่าว มอเตอร์ไซค์เมืองจีนซ้อนกัน 8 คน ส่วนบ้านเราเคยมีซ้อนกัน 6 คน ถามว่าถ้ามีมอเตอร์ไซค์อีกคัน นั่งมา 2 คน..2 ข้างนี้เปิดรับความเสี่ยง คือ Exposure คล้ายๆ กัน มีโอกาสที่มอเตอร์ไซค์จะคว่ำเหมือนกัน แต่ถามว่าใครจะได้รับผลกระทบมากกว่า? เราก็คาดว่านั่นแหละ..6 คน ซ้อนกันมาได้ หมวกกันน็อคก็ไม่ใส่ อัดกันมาทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่” ดร.มุทริกา อธิบายถึงตัวแปรต่างๆ อันมีผลต่อภัยที่เกิดขึ้น

ให้ “ความรู้” เพื่อสร้าง “ศักยภาพ”

เป็นที่ยอมรับกันแล้วในปัจจุบันว่า แม้ภัยพิบัติต่างๆ จะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด โดยเฉพาะภัยจากธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ แต่หากมีองค์ความรู้ และมีการเผยแพร่ความรู้นั้นออกไปในวงกว้าง ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการรับมือภัยพิบัติ เมื่อเกิดภัยขึ้นจริงๆ ความเสียหายที่ได้รับจะลดลงไปมาก อย่างมีนัยยะสำคัญ

ทั้งนี้ในทางวิชาการ นอกจากปัจจัยของภัยทั้ง 3 ประการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีศัพท์อีกคำคือ “Capacity” อันหมายถึงความสามารถในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ หรือก็คือ “ศักยภาพ” ในการรับมือภัยพิบัติ และการเสริมสร้างศักยภาพที่ทำได้ง่ายที่สุด คือการลดปัจจัยล่อแหลม (Vulnerability) ที่เป็นตัวขยายให้ความรุนแรงของภัยเพิ่มขึ้น เช่นอาคารสูงต้องติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้และมีการซ้อมหนีไฟอยู่เสมอ หรืออาคารที่ตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหว โครงสร้างต้องออกแบบให้ทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ เป็นต้น

“เคยได้ยินคำว่า Capacity ไหมคะ? หมายถึงศักยภาพ..และศักยภาพนี่แหละที่จะเป็นตัวทำให้เราลดความเสี่ยงนั้นๆ ได้ คือถ้าเรามีความรู้ มีความเข้มแข็ง รู้จักช่วยเหลือกันในชุมชน เรามีโครงสร้างทางกายภาพที่แข็งแรง รู้ว่าถ้าเกิดภัยขึ้น เราจะต้องปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บยังไง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นศักยภาพที่ทำให้เราฟื้นตัว กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว”

ดร.มุทริกา กล่าวถึงการลดปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของภัยพิบัติ ซึ่งขั้นตอนในการนำไปปฏิบัตินั้น ในแวดวงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรียกย่อๆ ว่า “2P-2R” หมายถึง Prevention , Preparedness , Response และ Recovery โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.ก่อนเกิดภัย จะเป็นเรื่องของ Prevention กับ Prepareness 2.ขณะเกิดภัย จะเป็นเรื่องของ Response และ 3.หลังเกิดภัย จะเป็นเรื่องของ Recovery

Prevention หรือการป้องกันผลกระทบจากภัยพิบัติ สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ 1.การป้องกันในเชิงโครงสร้าง เช่นการสร้างอาคารที่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้หากเกิดแผ่นดินไหว หรือเมืองที่มีการสร้างทางระบายน้ำขนาดใหญ่ (Flood Way) และพื้นที่แก้มลิงไว้รับมือหากเกิดน้ำท่วมรุนแรง กับ 2.การป้องกันในเชิงที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่นการให้ความรู้ด้านภัยพิบัติกับประชาชน หรือการมีกฏระเบียบที่สนับสนุนการป้องกันภัยพิบัติ เช่นกฏหมายควบคุมอาคาร เป็นต้น

Preparedness หรือการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยทั่วไปมักจะหมายถึงการวางแผนรับมือหากเกิดภัยพิบัติ การเตรียมอุปกรณ์เตือนภัย อุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย เสบียงอาหาร ระบบสื่อสาร ตลอดจนพื้นที่อพยพเมื่อเกิดภัยขึ้น พร้อมทั้งมีการฝึกซ้อมแผนดังกล่าวอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความเคยชิน ซึ่งขั้นตอนนี้เองที่ประชาชนสามารถเตรียมการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอภาครัฐ เช่นการพูดคุย นัดแนะกันในครอบครัว ว่าถ้าเกิดภัยขึ้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง เป็นต้น

Response หรือการรับมือขณะเกิดภัยพิบัติ โดยปกติแล้วย่อมไม่มีใครอยากประสบภัย แต่เมื่อภัยเกิดขึ้นแล้ว การเตรียมพร้อมที่ดีจาก 2P ข้างต้น โดยเฉพาะในขั้นตอน Preparedness จะทำให้การรับมือภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแผนที่ได้เตรียมไว้ ซึ่งหัวใจของขั้นตอน Response ก็คือการทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจากภัยพิบัติน้อยที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

Recovery หรือการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติผ่านพ้นไป ซึ่งมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างทางกายภาพ (Re-Construction) เช่นการซ่อมแซมบ้านเรือน ถนนหนทาง อาคารสถานที่และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ กับอีกส่วน คือการฟื้นฟูสภาพคน (Re-Habitation) ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิต ประกอบอาชีพได้ตามปกติ

“การบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐเพียงหน่วยงานเดียว เพราะถ้าบอกว่าภัยพิบัติเกิดขึ้นจากปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ และสามารถทำได้ก่อนเกิดภัย ไม่ใช่แค่กู้ชีพกู้ภัยหรือบรรเทาทุกข์ หรือฟื้นฟูเท่านั้น ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติได้หมด

ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน มหาวิทยาลัยที่ให้ความรู้กับประชาชน แม้แต่ชุมชนหรือบุคคลเอง อย่างตัวเราเองก็สามารถลดความเสี่ยงได้ เช่นถ้าบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำ เราก็ลดความเสี่ยงได้ อย่างย้ายบ้านได้ไหม? หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่ก็ต้องปลูกบ้านให้สูงขึ้นหน่อย ให้มีใต้ถุนบ้านให้น้ำผ่านได้ช่วงน้ำมาก นี่คือการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติในปัจจุบัน ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วน และสามารถร่วมด้วยช่วยกันจัดการก่อนเกิดภัย” ดร.มุทริกา ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

จะเห็นได้ว่าภัยพิบัติต่างๆ แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยต่างๆ นานาก็ตาม แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี ความเสียหายที่เกิดจากภัยนั้นก็จะลงน้อยลงได้ ทั้งในแง่ระดับชาติ ที่เมื่อความสูญเสียเกิดขึ้นน้อย ย่อมลดการใช้งบประมาณในการฟื้นฟูได้ด้วย เพื่อให้งบประมาณเหล่านั้น สามารถนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ได้ต่อไป และในแง่บุคคล ที่เมื่อสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะหัวหน้าครอบครัวไม่ได้รับอันตรายจากภัยพิบัติ ครอบครัวก็ยังคงอยู่รอดได้อย่างเป็นสุข ไม่ต้องตกระกำลำบากจนเป็นภาระต่อผู้อื่นเช่นกัน

SCOOP@NAEWNA.COM

ที่มา www.naewna.com