เฝ้าระวังน้ำท่วมหาดใหญ่ - Hatyai City Climate . ORG

"www.hatyaicityclimate.org"

photo  , 800x452 pixel , 53,344 bytes.

"www.hatyaicityclimate.org"

ขอแนะนำเว็บไซต์เตือนภัยน้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ เกิดขึ้นภายใต้วิธีคิด "เตือนภัยโดยไม่ต้องเตือนภัย" ดำเนินการโดยมูลนิธิเครือข่ายเมืองภาคใต้เพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(SCCCRN) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ซึ่งต้องการเติมเต็มช่องว่างการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ย้ำนะครับ...เว็บไซต์นี้ดำเนินการโดยภาคประชาชน มิได้เป็นของหน่วยงานใด หากแต่เป็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน

1.นำข้อมูล อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ภาครัฐมีแต่อยู่กันคนละที่ละทาง คนละหน่วยงานมารวมกันให้ประชาชนได้เข้าถึงในที่เดียวกัน สามารถใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เตือนภัยได้ด้วยตัวเอง
ประกอบด้วยหน่วยงานสำคัญ อาทิ

-ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีเรดาห์สทิงพระ ภาพถ่ายจากดาวเทียม แผนที่อากาศ สถานีฝนออน์ไลน์ในพื้นที่อู่ตะเภา ข่าวสารการเตือนภัยต่างๆ โดยสรุปศูนย์อุตุ...ดูแลน้ำที่อยู่บนฟ้า

-ส่วนอุทกวิทยาสนง.ทรัพยากรน้ำที่ 8 มีสถานีเตือนภัยและผู้รู้ วัดระดับน้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับกล้อง cctv ที่สะพานลอยใกล้วัดหาดใหญ่ใน มีข้อมูลการเตือนภัย พร้อมจัดทำแผนเรื่องน้ำ

-กรมชลประทาน มีสตัฟเกจวัดระดับน้ำ มีผังน้ำแต่ละลุ่มน้ำ มีชุดอุปกรณ์ต่างๆ ดูแลน้ำบนฟ้าที่ตกลงมาในคลองต่างๆที่ตนดูแล

-ท้องถิ่น มีการจัดตั้งศูนย์ปัองกันฯ ในช่วงหน้าฝน พร้อมระบบเตือนภัยธงเขียว/เหลือง/แดง และอื่นๆ มีการทำแผนรับมือระดับพื้นที่ เตรียมการขุดลอก การระบายน้ำในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นน้ำท่า

-จังหวัด/ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดูแลภาพรวม มีอำนาจในการประกาศพื้นที่ประสบภัยเพื่อนำงบมาใช้ ทำงานประสานกับอำเภอ/ท้องที่/ท้องถิ่น กล่าวเฉพาะสงขลามีการจัดตั้งอนุกรรมการประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อคอยทำหน้าที่ประมวลข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะส่งต่อให้จังหวัดตัดสินใจเชิงนโยบาย คณะทำงานนี้มาจากผู้ปฎิบัติในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นหัวหน้าทีม

ทว่าการทำงานของกลไกหรือหน่วยงานเหล่านี้ หากจำกัดเฉพาะในขอบเขตเมือง ยังมีช่องว่างหลายประการ

-การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไป ผันผวน ไม่แน่นอน ทิศทางการตกของฝนไม่แน่นอน คาดเดาล่วงหน้าได้ยาก

-การพัฒนาทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลง ทางน้ำหายไป มีการถมที่เปลี่ยนทางน้ำ ถนน/คอนกรีต/สิ่งก่อสร้างไม่เปิดพื้นที่ให้น้ำได้มีที่ไป คนเมืองทิ้งขยะ น้ำเสีย ท่ออุดตัน ประกอบกับมาตรฐานการสร้างท่อระบายน้ำไม่สามารถรับน้ำในปริมาณมาก(เช่น ฝนเกิน 100 มม. ทำให้น้ำท่วมขังรอระบาย) การแก้ปัญหาอยู่ในแนวทางการใช้มาตรการสิ่งก่อสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็งเป็นหลัก แยกส่วนจากกัน ไม่เอื้อต่อการปรับตัว ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาน้ำท่วมสร้างคลองระบายน้ำเปลี่ยนคลองเป็นคู ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง หน้าแล้งไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้

-น้ำท่วมอยู่ในบริบทของภูมินิเวศลุ่มน้ำ ประกอบด้วยพื้นที่ปกครองหลายหลาก ต้องการเจ้าภาพร่วมในการเตรียมพร้อมอย่างเป็นระบบ

-น้ำท่วมใหญ่เกิดได้จากปริมาณฝนที่ตกทุกทิศทาง โดยเฉพาะจากต้นน้ำ กรณีหาดใหญ่ น้ำมาจากสะเดา สมทบกับน้ำจากนาหม่อม ควนลัง น้ำทะเลหนุนจากทะเลสาบ จุดสังเกตุของคนหาดใหญ่จะอยู่ที่คลองอู่ตะเภาที่เป็นจุดรวมน้ำและคลองสาขา

จึงเกิดแนวคิดในการปรับตัวโดยมีโครงการจากมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์เข้ามาสนับสนุนให้เกิดโครงการเครือข่ายเมืองในเอเซียเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ACCCRN) ดำเนินงานสำคัญ ได้แก่

-จัดทำเว็บไซต์ พร้อมติดตั้งกล้อง cctv ณ จุดสำคัญเผยแพร่ภาพน้ำพร้อมที่วัดน้ำเพื่อให้สามารถวิเคราะห์เส้นทางและระดับความสูงของน้ำ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตั้งกล้องเพิ่มเติมโดยงบจากภาคเอกชนในหลายจุด ต่อมาขยายจุดติดตั้ง ณ ถนนสำคัญอีกด้วย ข้อมูลและภาพจะช่วยสนับสนุนการทำงานของอนุกรรมการประเมินสถานการณ์น้ำและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลด้วยตนเอง

มีคำถามเข้ามามากว่าทำไมงานนี้จึงไม่ใช่หน่วยงานราชการเป็นผู้ดำเนินการ หน่วยงานเช่นท้องถิ่นหลัก เช่น ทน.หาดใหญ่ จึงไม่สนับสนุนหรือเป็นเจ้าภาพดำเนินการเอง คำตอบก็คือว่า ขอบเขตรับผิดชอบอยู่มากเกินกว่าพื้นที่ของตน การเกิดน้ำท่วมต้นน้ำมาจากอีกอำเภอ และมีอปท.ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ประกอบกับข้อจำกัดด้านกฏระเบียบงบประมาณ การดูแลอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเป็นเจ้าของของแต่ละองค์กรที่แยกส่วนจากกัน ข้อจำกัดเหล่านี้จึงทำให้คณะทำงานตัดสินใจจัดตั้งมูลนิธิเครือข่ายเมืองฯขึ้นมารับผิดชอบแทน ทำหน้าที่เชื่อมโยงเป็นคนกลางประสานการทำงานและพัฒนายกระดับการแก้ปัญหาต่อไป

2.เติมเต็มจุดอ่อนในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านอื่นๆ

-ความรู้ของประชาชน โครงการได้ดำเนินกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ในหลายรูปแบบทั้งเป็นหลักสูตรท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์กับสถานศึกษา การดูงาน การจัดทำสื่อเพื่อลดความสับสนจากข่าวลือต่างๆ

-การจัดทำแผนชุมชน  ณ จุดเสี่ยงสำคัญ เพื่อให้เกิดแผนเผชิญเหตุระดับพื้นที่ รวมถึงแผนระดับลุ่มน้ำ

-การเชื่อมโยงเครือข่ายเตือนภัยผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ

เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เว็บไซต์นี้เป็นที่พึ่งให้กับผู้คนจำนวนมาก มีการนำภาพกล้อง cctv ไปเผยแพร่ต่อ หรือนำไปอยู่ในแอพฯต่างอีกหลากหลาย

เพื่อสร้างความรับรู้ร่วมกัน จึงเขียนเล่ามาด้วยต้องการให้คนหาดใหญ่หรือประชาชนที่ได้ประโยชน์ได้ทราบที่มาที่ไป ช่วยกันสนับสนุนให้เว็บไซต์นี้สามารถดำเนินการอย่างมั่นคงต่อไป ปัจจุบันสถิติเว็บไซท์ ณ 3 ธ.ค. 2565 10:46:28 มีผู้เข้าชมทั้งสิ้น Total view 11,048,764 persons 39,696,430 views from 2,124 members. Since Jul,11 2011. Yesterday 12,824 persons 50,783 views.Today 6,252 persons 24,642 views.